What’s new in Endodontics ตอนที่ 4

ff11344

ต้นเดือนนี้ มีข่าวค่อนข้างดังในวงการทันตแพทย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และถูกรายงานโดยสำนักข่าวสำคัญๆ ทั้ง CNN, Newsweek, MSN News, Washington Post, Dailymail รวมถึง website ทางการแพทย์อย่าง www.ada.org หรือ www.pulmonaryfibrosisnews.com เกี่ยวกับรายงานประจำสัปดาห์ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (US. centers for disease control and prevention : CDC) ในหัวข้อ Dental Personnel Treated for Idiopathic Pulmonary Fibrosis at a Tertiary Care Center — Virginia, 2000–2015 รายงานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า อาจมีความเกี่ยวข้องระหว่างการเกิดโรค Idiopathic pulmonary fibrosis (IPF) กับการทำงานทางทันตกรรม

IPF เป็นสภาวะการอักเสบไม่ทราบสาเหตุซึ่งเกิดขึ้นบริเวณเนื้อปอดที่ไม่ใช่ถุงลม ร่างกายพยายามต่อสู้สิ่งกระตุ้นโดยการสร้างพังผืดแทรกในเนื้อปอด ส่งผลให้การแลกเปลี่ยน O2 ลดลง ผู้ป่วยมักมีอาการหายใจติดขัด หายใจไม่สะดวก ไอเรื้อรัง น้ำหนักลดและนำไปสู่การเสียชีวิตในเวลาต่อมา แม้ IPF จะเกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพบางอย่าง (เช่นช่างเชื่อมเหล็ก คนเลี้ยงนกพิราบซึ่งดมและสัมผัสขี้นกบ่อยๆ) แต่ยังไม่เคยมีการรายงานโรคดังกล่าวอย่างเป็นระบบกับการทำงานทางทันตกรรมมาก่อน

CDC เริ่มรับทราบปัญหาตั้งแต่ปี 2016 หลังจากทันตแพทย์คนหนึ่งซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น IPF แสดงความกังวลใจและสงสัยว่าการทำงานในคลินิกทันตกรรมอาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรค CDC จึงสืบสวนและ review ประวัติคนไข้ซึ่งเข้ารับการรักษา IPF ที่ Virginia tertiary care centerในช่วงปี 1996-2017ทั้งหมด 894 คน ผลพบว่าเป็นทันตแพทย์ 8 คน และเป็นช่างเทคนิกทางทันตกรรม 1 คน (อายุตั้งแต่ 49-81 ปี median = 64 ปี) ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว 7 คน (median survival time หลังทราบว่าเป็นโรค 3 ปี โดยผู้รอดชีวิตได้รับการทำ lung transplant) ขณะที่อัตราการเกิดโรคในประชากรทั่วไปอยู่ที่ 6.8-17.4 รายต่อประชากร 100,000 ราย แต่โอกาสพบ IPF ในทันตแพทย์กลับสูงมากกว่าคนทั่วไปถึง 23 เท่า (อัตราส่วนดังกล่าวคำนวณเฉพาะทันตแพทย์ 8 คน ยังไม่นับรวมช่างเทคนิกทางทันตกรรม และเป็น incidence เฉพาะ center) ทั้งนี้ในผู้ป่วย 9 คนสูบบุหรี่ 3 คน ไม่สูบ 1 คน และไม่ทราบประวัติ 5 คน ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่และเป็นผู้แจ้งเตือน CDC ให้สัมภาษณ์ว่าไม่ใส่หน้ากากและเครื่องป้องกันระหว่างการรักษาทางทันตกรรม ส่วนกิจกรรมหลักที่ทำเกี่ยวข้องกับการขัด dental appliances การพิมพ์ปาก การอุดอมัลกัม และการเตรียมน้ำยาล้างฟิล์ม CDC สงสัยว่าสารประกอบบางอย่างเช่น silica, alginate, polyvinyl siloxane อาจเข้าไปในระบบทางเดินหายใจขณะทำงาน อย่างไรก็ตาม CDC ได้เน้นย้ำว่ารายงานดังกล่าวมีข้อจำกัดมาก เนื่องจากทำในศูนย์การรักษาเพียงศูนย์เดียว ข้อมูลการเป็นโรคของทันตแพทย์ที่ได้อาจสูงเกินความเป็นจริง นอกจากนี้สามารถสัมภาษณ์ผู้ป่วยได้เพียง 1 คนจาก 9 คน ทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ครบถ้วน ผู้ป่วยบางรายมีประวัติสูบบุหรี่และสัมผัสฝุ่นมากเป็นพิเศษ รวมถึงไม่มีผล histology ยืนยันโรค

อย่างไรก็ตามระหว่างที่ CDC ทำการศึกษาและสืบสวนเพิ่มเติม คงดีไม่น้อยหากพวกเราหันมาใส่ใจและป้องกันอันตรายซึ่งอาจเกิดกับสุขภาพของตัวเราเอง โดยการใส่หน้ากากอนามัยและเครื่องป้องกันระหว่างรักษาคนไข้ รวมถึงระหว่างขัดฟันปลอม ผสมวัสดุพิมพ์ปาก เทปูน ขัดปูน ฯลฯ โดยเลือกใช้หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐาน สังเกตค่า BFE (bacterial filtration efficiency) ซึ่งทดสอบโดย viable particles ระหว่าง 1-5 ไมครอน และค่า PFE (particle filtration efficiency) ซึ่งทดสอบกับ fixed-size, non-viable particles ขนาด 0.1-1 ไมครอน (ASTM mask level 1 เช่น examination mask ควรป้องกัน 0.1 micron PFEและ BFE ≥ 95% ขณะที่ level 2 และ 3 เช่น surgical mask ควรป้องกันได้มากกว่า 98%) เพื่อป้องกัน airborne spatter (ขนาดมากกว่า 50 ไมครอน) และ aerosols (ขนาด 0.5-50 ไมครอน) ซึ่งอาจฟุ้งกระจายในคลินิกทันตกรรม

ที่มา

https://pulmonaryfibrosisnews.com/2018/03/14/dental-personnel-may-be-at-risk-of-pulmonary-fibrosi