What’s new in Endodontics ตอนที่ 2

เคยสงสัยบ้างมั๊ยว่า หลังรักษารากฟัน หากต้องทำครอบฟันควรทำภายในกี่วัน กี่เดือน หรือกี่ปี (เอ๊ะ ไม่น่าใช่) คนไข้เองก็มักจะถามพวกเราอยู่เสมอว่าทิ้งไว้ก่อนได้มั๊ยคะหมอ ขอไปเที่ยวก่อนได้มั๊ยก็ไม่ปวดแล้วนิ่นา

จริงๆแล้วจะตอบคำถามนี้ได้ถูกต้อง ควรต้องพิจารณาเป็นรายๆไป ทั้งปริมาณเนื้อฟันที่เหลืออยู่ ลักษณะการสบฟันและการใช้งานของคนไข้ หรือฟันซี่ดังกล่าวมีความจำเป็นต้อง monitor อะไรต่อหรือเปล่า แต่โดยทั่วไปแล้วเรามักแนะนำคนไข้ว่า ฟันที่รักษารากแล้วควรบูรณะหรือทำครอบฟันให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ว่าแต่มันคือเท่าไหร่หล่ะ ??

มีการศึกษาเกี่ยวกับ survival rate ของฟันรักษารากที่ค่อนข้างน่าสนใจ และมองประเด็นดังกล่าวตีพิมพ์ใน Journal of Endodontics เดือนนี้ (February 2018) โดยนักวิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูลระบบประกันสุขภาพคนไข้ 13 ล้านคน วิเคราะห์ข้อมูลฟัน 160,040 ซี่ ซึ่งรับการรักษารากฟัน/ การบูรณะด้วย core หรือ post and core / และครอบฟัน และวิเคราะห์ว่าช่วงเวลาการบูรณะส่งผลต่อ survival rate หรือไม่

ผลการศึกษาพบว่า survival rate ของฟันรักษาราก 1 ปี = 99.1%, 3 ปี = 96%, 5 ปี = 92.3%, 10 ปี = 83.8% โดยฟันส่วนใหญ่ที่อยู่ในการศึกษานี้เกินครึ่งหนึ่งเป็นฟัน molar (55.4%) และรักษาโดย general practitioner (70.6%) กลุ่มนักวิจัยเลือกแปลผลโดยสนใจความแตกต่างของ survival rate ระหว่างปัจจัยในทุกๆจุดเวลา ไม่ใช่แค่ตอนจบของการศึกษา การศึกษานี้จึงเลือก report ค่า hazard ratio แทน odd ratio และค่า HR ก็เต็มไปหมด sig บ้าง ไม่ sig บ้าง เราขอเลือกเล่าแค่ 2 ประเด็นละกันนะ (จะรีบไปดู rerun the face all star) นั่นคือ

  1. Time from NSRCT (non-surgical root canal treatment) to core/ post
  2. Time from core/ post to crown

Time from NSRCT to core/ post

 

เฉลี่ยแล้วผู้ป่วยได้รับการบูรณะด้วย core (61.9%)/ post and core (38.1%) หลังรักษาราก NSRCT 66.6 วัน ( note ไว้นิดนึงว่า median = 14 วัน นั่นแปลว่าบางเคสที่ทิ้งไว้นานมากไปดึงค่าเฉลี่ยให้สูงขึ้น คล้ายๆกับเวลาสอบ Med Phy หรือ Calculus ตอนปี 1) จากการวิเคราะห์พบว่า การบูรณะด้วย core/ post and core นานเกินกว่า 60 วันส่งผลเสียมากกว่าการรีบทำภายใน 10 ถึง 14 วัน (HR 1.08, 95%CI 1.02-1.15 – กลุ่มประชากรที่ทำ core/ post and core นานเกินกว่า 60 วัน มีโอกาสเกิด risk มากกว่ากลุ่มที่รีบทำ 8% โดย 95% ของเคสทั้งหมดมีโอกาสเกิด risk เพิ่มขึ้นอยู่ใน range 2-15%) ตัวเลขอาจดูเหมือนไม่มาก แต่ significance ทางสถิติ

Time from core/ post to crown

เฉลี่ยแล้วผู้ป่วยใส่ครอบหลังบูรณะด้วย core/ post and core 160.5 วัน (median 14 วัน) โดยผู้ป่วยที่ใส่ครอบหลังบูรณะด้วย core/ post and core นานกว่า 60 วันมีโอกาสเกิดความเสี่ยงมากกว่าการใส่ครอบภายใน 10-14 วัน (HR 1.14, 95%CI 1.08-1.21) – กลุ่มประชากรที่ใส่ครอบหลังบูรณะด้วย core/ post and core นานเกินกว่า 60 วันมีโอกาสเกิด risk มากกว่ากลุ่มที่รีบทำ 14%

นักวิจัยยังเปรียบเทียบในประเด็นอื่นๆ อีก เช่น influence ระหว่าง endodontist/ GP หรือ influence ระหว่าง post and core/ core alone (no post) หากสนใจตามหาอ่านต่อได้ตาม reference ด้านล่าง

ทั้งนี้การศึกษานี้ไม่ใช่การศึกษาแรกที่ดูผลของเวลาระหว่างการรักษารากและการทำครอบต่อ survival rate ก่อนหน้านี้ Pratt ในปี 2016 พบว่าการปล่อยฟันรักษารากไว้โดยไม่ได้บูรณะด้วยครอบภายใน 4 เดือนมีโอกาสถูกถอนมากกว่าฟันที่ได้รับบูรณะภายใน 4 เดือนถึง 3 เท่า โดยการศึกษาดังกล่าวดูในระบบโรงเรียนทันตแพทย์ แต่การศึกษาที่เรากำลังพูดถึงนี้เป็นการศึกษาแรกที่ดูในระบบของเอกชน ซึ่งการดึงข้อมูลจากระบบประกันสุขภาพของเอกชนเองก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง และตัวเลขที่รายงานอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่นฟันถูกถอนแต่ไม่ได้เคลมประกัน ไม่ได้ลง code ในระบบ หรือลง code ผิด หรือมีการรักษากับ healthcare provider ข้ามเขตที่ไม่ใช่ insurance provider การศึกษานี้จึงอาจยังไม่มีน้ำหนัก strong มากนักในการทำให้เราเชื่อ data ทั้งหมด แต่เป็นการศึกษาที่มี idea ที่ดี และน่าเล่าสู่กันฟัง

ท้ายสุดแล้วคงวนกลับไปเหมือนที่กล่าวข้างต้น ว่าการประเมินควรทำเป็น case by case เนื่องจากปัจจัยต่างๆมีมากเหลือเกิน หากมีเหตุผลที่ไม่สามารถบูรณะได้ทันทีและผู้ป่วยมีแนวโน้มหายไปนาน การอุดด้วย cavit/ IRM คงไม่เหมาะ การบูรณะด้วย resin composite/ orthodontic band ร่วมกับ resin composite/ temporary crown อาจเหมาะสมกว่า ขึ้นกับสภาพเนื้อฟันที่เหลืออยู่ และระยะเวลาที่คาดว่าจะต้องรอทำครอบ อย่าลืมอธิบายและสร้างความเข้าใจกระบวนการรักษาทั้งหมดแก่ผู้ป่วยก่อนเริ่มการรักษาและมอบ treatment options ต่างๆให้ผู้ป่วยด้วยนะครับ ฉบับหน้ามีเรื่องอะไรน่าสนใจหรืออยากให้ update เรื่องอะไรเป็นพิเศษ บอกกันมาได้ครับ

References

1. Yee K, Bhagavatula P, Stover S, Eichmiller F, Hashimoto L, MacDonald S, et al. Survival Rates of Teeth with Primary Endodontic Treatment after Core/Post and Crown Placement. J Endod. 2018 Feb;44(2):220-5.

2. Pratt I, Aminoshariae A, Montagnese TA, Williams KA, Khalighinejad N, Mickel A. Eight-Year Retrospective Study of the Critical Time Lapse between Root Canal Completion and Crown Placement: Its Influence on the Survival of Endodontically Treated Teeth. J Endod. 2016 Nov;42(11):1598-603.